(พ.ศ.2539)
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว(2 ธันวาคม พ.ศ.2557) ผมได้มีโอกาสคุยกับเพื่อนของผม
นายแว่นงานดนตรี(ปภงกร วรรธนะสิน)
เนื่องจากนายแว่นแวะมาเยี่ยมผมในวันที่ผมเล่นดนตรีอยู่ที่ร้าน
วันนั้นเป็นวันที่ผมเล่นดนตรีอยู่กับคุณ ว่อง ธีระภาพ ว่องเจริญ และ กุ๊ก เกิดศิริ
ปุระสาชิต ก็เป็นประจำนะครับ ทุกวันอังคาร*
พวกเราก็จะเล่นเพลงไทยเก่าๆ ประมาณก่อนยุค10ปีแกรมมี่
บทเพลงที่ฝังใจมาตั้งแต่วัยเด็ก ไม่มีการซ้อม มาถึงอยากเล่นเพลงอะไร
ก็เปิดหนังสือเพลง เปิดไอแพด เล่นเลย ก็เพลงที่เคยเล่นสมัยวัยรุ่นทั้งนั้นล่ะครับ
จำได้บ้างไม่ได้บ้าง แต่ก็สนุกดี แขกผู้มีเกียรติที่วัยใกล้ๆกันจะฮึมฮัมตาม
ส่วนที่อายุน้อยหน่อยก็จะมองแบบแปลกๆ ถามกันเองในโต๊ะว่าเพลงอะไร? บ้างก็เฉยๆ
ใครจะไปสน เพลงเก่าๆนักดนตรีแก่ๆ จวนเจียนจะวางมือไปจับจอบเสียมทำไร่อยู่รอมร่อ
เสร็จภาระกิจบนเวที ผมก็ลงมาเสวนากับนายแว่น
เรื่องเพลงใหม่ของเขาที่กำลังอยู่ในขั้นตอนการบันทึกเสียง(ที่บ้านคุณนิค
ห้องบันทึกเสียงที่ผมใช้ทำอัลบั้ม SAMPLE 42ก๊อปปี้เพื่อนำไปแจกให้เพื่อนฝูงฟังนั่นล่ะครับ)
เพลงใหม่นายแว่นมี4เพลง
แฟนๆคงจะได้ฟังเร็วๆนี้ทางสื่อไหนไว้จะมาช่วยแจ้งข่าวให้ทราบอีกครั้ง
เสร็จจากธุระของนายแว่น นายแว่นก็ย้อนกลับมาถามผมเรื่องเพลงใหม่ พาราณสี ออเคสตรา
ผมก็บอกไปว่า ผมมี5เพลง เนื้อร้อง ทำนอง คอร์ด มีหมดแล้ว
แนวคิดในการบันทึกเสียงก็มีแล้ว รอแต่จังหวะที่ว่าง พร้อมเมื่อไรจะลงมือทำเหมือนกัน
คงเริ่มกระดิกสักต้นปี พ.ศ. 2558 “และพอเสร็จงานนี้
ผมคงจะไม่ทำอะไรอย่างนี้อีกแล้ว” ผมบอกกับนายแว่นไปแบบนั้น คุยไปคุยมา
เรื่องราวเก่าๆสมัยที่พวกเรายังเป็นศิลปินหัวใหม่ในสังกัด ไมล์สโตน ก็พรั่งพรู
มีทั้งเรื่อง สนุก ตลก ซึ้งใจ เรียกว่าคุยกันออกรส จนมาสะดุดอยู่ตอนหนึ่ง
นายแว่นถามผม จำได้ว่ามีเรื่องเรื่องหนึ่งที่ผมเคยเล่าให้ฟังสมัยนั้น
เกี่ยวกับเพลงของผมในอัลบั้ม พาราณสี ออเคสตรา เมื่อราว15ปีก่อน
ทำให้ผมนึกขึ้นมาได้ว่า เคยมีเรื่องนี้เกิดขึ้นจริง แม้เนิ่นนานจนเกือบจะลืมไปแล้ว
แต่พอถูกสะกิด ความทรงจำนั้นมันก็หวนกลับมา
บนห้องอาคารชุดแห่งหนึ่งที่แม่ของผมออกเงินซื้อเอาไว้
(เพื่อที่จะให้ผมกับอดีตภรรยาผ่อนชำระแบบไม่ต้องเสียดอกเบี้ย
แต่สุดท้ายก็ผ่อนไม่หมด ฮา)
ผมมีเครื่องไม้เครื่องมือในการทำเพลงที่เรียกว่าทันสมัย(ในยุคนั้น
ตอนนี้ไม่มีเหลือแล้ว ฮา) นำมาประกอบกันเป็นสตูดิโอด้านเสียงเพื่อใช้งาน
ตามทางฝันที่ตัวเองอยากเดิน เมื่อแต่งเพลงได้จำนวนหนึ่ง ก็จะทำดนตรี
บันทึกเสียงเป็นตัวอย่างเก็บบันทึกไว้เรื่อยๆ คืนนั้นในปี พ.ศ. 2539
ขณะที่ผมทำเพลงตัวอย่างชื่อ สัจธรรม (ซึ่งต่อมา
เพลงนี้ถูกบรรจุอยู่ในอัลบั้ม พาราณสี ออเคสตรา พ.ศ.2542)
จำได้ว่าคืนนั้น เป็นคืนปกติเหมือนทุกๆคืนที่ผ่านมา แต่เนื่องด้วยตึกอาคารชุดนี้เพิ่งสร้างเสร็จไม่กี่ปี
และในขณะนั้น คนเมืองยังไม่ตื่นตัวกับการใช้ชีวิตอยู่กับอาคารชุดสักเท่าไรนัก
ทำให้ตึกนี้แทบจะยังไม่มีคนอยู่โดยเฉพาะชั้นที่ผมอาศัยนั้น
มีเพื่อนบ้านแค่ไม่กี่ห้อง ห้องที่ขนาบซ้ายขวานับเป็นสิบห้องเป็นห้องว่างเปล่า เงียบ
สงบ ทั้งชั้น เหมือนผมอยู่คนเดียว
พาร์ทดนตรีผมใช้ม้วนเทปลากซิงโครไนซ์กับคอมพิวเตอร์
เสียงร้องหลักผมบันทึกเสร็จแล้วอย่างราบรื่น กระทั่งช่วงบันทึกไลน์เสียงประสาน4พาร์ท(โดยเสียงของผมเอง ใช้วิธีบันทึกทีละแทร็ค)
คำที่ร้องว่า เกิด...แล้วตาย...วนไปวนมาหลายๆรอบในช่วงท้ายเพลง
ผมก็บันทึกโดยไม่คิดอะไร
จนมาเพลย์แบ็คฟังด้วยหูฟัง(ซึ่งจะชัดกว่าฟังจากลำโพงมอนิเตอร์)ว่าจะต้องมีแก้ตรงจุดไหน
มีร้องหรือประสานเพี้ยนหรือไม่ ฟังไปฟังมา
หูเจ้ากรรมก็แว่วได้ยินเสียงผู้หญิงร้องประสานคลออยู่ในท่อนนี้ “หูคงฝาด”
ผมย้อนเทปกลับเพื่อฟังเช็ค พอถึงท่อน เกิด...แล้วตาย... มาอีกแล้ว เสียงผู้หญิง
เสียงเธอเพราะนะครับ ไม่ใช่ไม่เพราะ แต่ผมรู้สึกกลัวแล้ว ผมหยุดเทป เสียงก็เงียบไป
“เอาใหม่”ผมคิด จากนั้นผมก็ย้อนเทปกลับไปเพื่อจะเริ่มฟังอีกครั้ง
เกิด...แล้วตาย... มีครับ ยืนยันว่ามี แต่คราวนี้เมื่อผมหยุดเทป เสียงนั้นไม่หยุด
เธอยังร้องอยู่ เกิด...แล้วต... ผมรีบถอดหูฟังโยนทิ้ง มองไปรอบๆห้อง ไม่มีอะไร
เดินไปเปิดประตูหน้าห้อง เงียบกริบ มีแต่ความว่าง ไม่มีใครแม้สักคนเดียว
ผมเดินกลับมาที่มุมทำงาน ปิดเครื่องไม้เครื่องมือทุกอย่าง นั่งลงทำใจสักพัก
แล้วเปิดทีวี.
*ปัจจุบัน
ทุกวันอังคารถ้าท่านไปชมดนตรีที่ร้าน ท่านก็ยังจะพบกับโชว์ของคุณว่องนะครับ
แต่ผมและกุ๊กไม่ได้ทำหน้าที่กับคุณว่องแล้ว ตั้งแต่วันอังคารที่ 16 ธันวาคม
พ.ศ.2557 เป็นต้นไป อาจจะมีแค่ไปนั่งเชียร์เฮฮากันเป็นบางครั้ง
ใครอยากหิ้วเครื่องดนตรีไปแจมไปทักทายกับคุณว่อง คุณว่องน่าจะยินดีครับ
เชิญครับเชิญ