ก่อนเปิดห้อง

ห้องเก็บของสำหรับผม ก็คล้ายๆเป็นที่เก็บความทรงจำมากมายหลายอย่าง ของที่ยังใช้ได้ แต่ไม่มีโอกาสได้ใช้ ของที่เสียที่ชำรุดแล้ว แต่มีค่ามากกว่าที่จะทิ้งมันไป ของเก่าๆที่ไม่เข้ากับชีวิตปัจจุบัน กับยุคสมัยที่เปลี่ยนไป รูปภาพ ม้วนเทปเพลงที่เคยแต่งเคยบันทึกไว้ง่ายๆ นานจนลืมไปแล้วว่ามีกี่เพลง เพลงอะไรบ้าง จดหมาย สมุดบันทึกในช่วงชีวิตต่างๆ มีเรื่องราวเกี่ยวกับตัวผมมากมายที่ครอบครัวผมเองก็ยังไม่เคยรู้ นานมากแล้วนะ ที่ไม่ได้เปิดประตูเข้าไปดูมันเลย ลองเข้าไปดูกับผมมั้ย?

*ก่อนอื่นต้องขอขอบคุณเจ้าของรูปภาพประกอบเรื่องราวทั้งหลายมา ณ.ที่นี้ นิตยสาร สื่อสิ่งพิมพ์ ผู้ออกแบบปกอัลบั้มต่างๆ ทั้งภาพที่พี่ๆศิลปินส่งมาให้ ภาพเก่าที่บราเธอร์ , มาสเตอร์ หรือเพื่อนเก่าๆได้ถ่ายเอาไว้ ใครเป็นคนถ่ายบ้างก็ไม่รู้มั่วไปหมด รูปภาพที่มีผม ผมไม่ได้ถ่ายเองอยู่แล้ว แม้บางภาพจะเป็นกล้องและฟิล์มของผมเองก็ตาม


วันอังคารที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2557

พี่ป้อมชาตรี




ผมได้รับการชักชวนจากพี่อารักษ์ ราษฎร์บริหาร และพี่ต้น ลาดพร้าว ให้ไปดูการแสดงของวงดนตรี ชาดำเย็น ซึ่งเล่นเพลงของ ชาตรี แบบแกะแผ่นเหมือนเปี๊ยบ ที่ร้านอาหาร ปลาทูแช็ค ในวันเสาร์ที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2557 พี่อารักษ์มือเบสของวง (เป็นผู้บริหารที่เล่นเบสเก่งมากๆ) เผยให้ฟังก่อนหน้าหลายสัปดาห์ว่าครั้งนี้ พี่ป้อม คฑาวุธ สท้านไตรภพ นักร้องตัวจริงเสียงจริงของ ชาตรี จะมาเป็นนักร้องนำให้กับ ชาดำเย็น งานนี้ผมจึงนำเอาปกแผ่นเสียงเก่า(ที่เพิ่งได้มาใหม่)ของ ชาตรี อัลบั้มรีมิกซ์ ติดไปให้พี่ป้อมเซ็นชื่อด้วย



ภายในงาน ผมยังได้เจอกับพี่โอ๋ คีรีบูน (อาทิตย์ นามบุญศรี) ที่เคยทำวงดนตรีและเคยเกือบจะได้ออกอัลบั้มด้วยกันเมื่อ 27ปีที่แล้ว พี่โอ๋ยังน่ารักและเป็นกันเองเหมือนเดิม นั่งคุยกันเรื่องเก่าๆเกือบสองชั่วโมงเต็ม และยังทำให้รู้ว่าตอนนี้พี่โอ๋ ทำธุรกิจเบเกอรี่แล้ว

นามบัตรร้านพี่โอ๋ครับ


นับเป็นงานที่2ของ ชาดำเย็ ที่ผมได้มีโอกาสไปนั่งซึมซับเสียงเพราะๆจากบทเพลงเก่าๆของ ชาตรี มีความสุขจริงๆครับ.

24ปี สืบ นาคะเสถียร


วันอาทิตย์ที่ 31 สิงหาคม พ..2557 ผมได้ติดตามพี่ซัน มาโนช พุฒตาล ไปกับรถขับเคลื่อนสี่ล้อ DEFENDER ของแก เพื่อมุ่งหน้า “ห้วยขาแข้ง” จังหวัด อุทัยธานี ในนามวงดนตรี Little Lamb (The Lamb แบบย่อส่วน) เพื่อร่วมงานแสดงดนตรีรำลึกการจากไปของพี่สืบ สืบ นาคะเสถียร การเดินทางเป็นไปด้วยความสนุกสนานโดยพี่ซัน เป็นผู้ขับรถ มีคุณหยิก สมพร ศรีเมือง ผู้ช่วยของพี่ซัน นั่งข้าง มีผม คุณว่อง ธีรภาพ ว่องเจริญ คุณกุ๊ก เกิดศิริ ปุรสาชิต สมาชิกวงทั้งหมดนั่งอยู่ส่วนท้าย พูดคุยเฮฮา มีสาระบ้าง ไม่มีสาระบ้าง กันไปตลอดทาง



นานแล้วที่ผมไม่ได้เข้าป่ากับพี่ซัน ด้วยความที่โดยส่วนตัวเป็นคนชอบต้นไม้เขียวๆ กลิ่นดิน กลิ่นหญ้าอยู่แล้ว ทริปนี้จึงถือว่าผมได้อิ่มเอมใจกับสิ่งที่ผมชอบถึงสองอย่าง คือ ดนตรี กับ ธรรมชาติ




ค่ำคืนนั้น ระหว่างการแสดง ถึงแม้จะมีเหตุขลุกขลักเรื่องระบบไฟฟ้า และเวที แต่สิ่งที่ได้กลับมาคือ “ใจ” ของผู้ที่ไปร่วมงาน และรับชมการแสดง ความเป็นกันเองของหัวหน้าหน่วยและนักอนุรักษ์ป่าที่บ้านพักหลังจากจบการแสดงแล้ว ก็อบอุ่น สนุกสนาน โดยเฉพาะพี่เชน ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ (ผู้ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจให้พี่ซันแต่งเพลง เชนมีคู่หูป็นลิง) ได้เล่าเรื่องป่า เรื่องการทำงาน การผจญภัย เป็นที่น่าตื่นเต้นยิ่ง

3าฬิกา พวกเราขอตัวแยกย้ายกลับมาที่เต็นท์เพื่อพักผ่อน อากาศดี เสียงแมลง และเสียงที่ไม่รู้จักแว่วเข้าหู เผลอหลับไปตอนไหนไม่ทราบ มารู้สึกตัวอีกทีฟ้าก็เริ่มสว่างแล้ว พวกเราค่อยๆลุกขึ้นมุดออกจากเต็นท์ ทีละคนๆ เพื่ออาบน้ำแปรงฟัน พี่ซันวางกาเพื่อต้มน้ำจากเตาแก๊สพกพา นำน้ำร้อนเทใส่ โจ๊กถ้วยกระดาษ มื้อเช้าง่ายๆแต่ได้อารมณ์เที่ยวป่า(แบบคนเมือง) โชคไม่ดีนิดหน่อยที่ผมมีอาการอาหารเป็นพิษ อาเจียนหลายรอบ คงเพราะไข่ลวกสำเร็จที่พวกเราซื้อไว้ในวันก่อนหน้า ทำเหตุ

คุณว่อง ธีรภาพ (ผมเลยถ่ายให้ ทีละภาพ)


แม้ไม่อยากกลับ เพราะหลงใหลบรรยากาศ และด้วยความเกรงใจบรรดาสมาชิกท่านอื่นๆที่อาจจะยังพักผ่อนไม่เพียงพอ แต่ก็ต้องกลับเพราะติดภาระอาชีพดนตรีประจำที่ร้านอาหาร ขากลับพี่ซันทำตามสัญญา ขับรถกลับมาถึงกรุงเทพภายใน4โมงเย็น เพื่อให้ผมกับกุ๊กมีเวลาเตรียมตัวไปทำงาต่อในหัวค่ำวันนั้น ทั้งๆที่ผมสังเกตว่า บางช่วงของการขับรถ พี่ซันหลับ.


พาราณสี ออเคสตรา (ตอนที่ 4)


จากความเรื่องมากในด้านความต้องการหาศิลปินมากหน้าหลายตามาร่วมงานแล้ว ด้านการบันทึกเสียงผมก็ยังสู้อุตส่าห์เพิ่มความมากเรื่องเข้าไปอีก ห้องบันทึกเสียงต้องเป็นระบบ อนาล็อก เครื่องบันทึกเสียงเทป2นิ้ว ซึ่งในตอนนั้นในเมืองไทยแทบจะไม่มีแล้ว พี่ซันพาผมไปดูห้องบันทึกเสียง Gecco Studio Complex ห้องบันทึกเสียงระบบ อนาล็อกชั้นแนวหน้า ในซอยสุขุมวิท39 ได้ไปพูดคุยกับพี่ณัฐเจ้าของกิจการถึงแผนงานบันทึกเสียงและความเป็นไปได้ที่จะทำ พี่ณัฐแนะนำพี่ตุ้ย ทศพร รุ่งวิทยา ซาวด์เอนจิเนียจบจากนอก ที่ทำงานในสายดนตรีมานาน คุณอู่ ไตรเทพ วงค์ไพบูลย์ มือมิกซ์เสียงที่จบมาจากนอกเช่นกัน และมีน้องชายของเพื่อนผม โช จักรกฤช บัวเอี่ยม มาช่วยดูแลระบบ

พี่ตุ้ย กับ ผม

การบันทึกเสียงแบบนี้ แน่นอนว่าย่อมต้องลำบากกว่าการบันทึกเสียงในปัจจุบัน การแก้ไขข้อผิดพลาดในรายละเอียดแทบจะทำไม่ได้เลย บางทีหูได้ยินตำหนิของเสียงบางเสียงแต่ก็ต้องปล่อยผ่าน เรียกว่าถ้าส่วนใหญ่ดี ส่วนน้อยที่เป็นติ่งเสีย เราก็ต้องทำใจ  จึงเป็นที่มาของความดิบแบบโบราณ เครื่องดนตรีทุกชิ้นเล่นกันไม่กี่เทค เน้นความเป็นธรรมชาติ ธรรมชาติของมนุษย์ที่ไม่มีอะไรสมบูรณ์แบบ ครั้งหนึ่งจำได้ว่า เครื่องบันทึกเสียงชำรุด ทำเอาใจผมเสียเลย เพราะไม่รู้ว่าเครื่องที่มีอายุขนาดนี้จะซ่อมได้หรือไม่ มีอะไหล่หรือเปล่า ระยะเวลานานขนาดไหน ซ่อมเสร็จแล้วสปีดความเร็วจะเท่าเดิมไหม เพราะสิ่งที่บันทึกเข้าไปแล้วมันเรียกกลับคืนมาเก็บไว้ที่อื่นไม่ได้แล้ว หรือจะต้องบันทึกกันใหม่ทั้งหมด? การซ่อมแซมเครื่องในครั้งนั้นใช้เวลา 20กว่าวัน เครื่องก็กลับมาใช้งานได้ปกติ



อัลบั้มพาราณสี ออเคสตรา ใช้คิวบันทึกเสียงทั้งสิ้นรวมมิกซ์ดาวน์แล้ว 35 คิว ก็เสร็จสมบูรณ์ ความยากในการมิกซ์คือใช้มือคนล้วนๆ ไม่ว่าจะเป็นการแพนซ้ายขวา การเฟดเสียงดังเบาในบางท่อน หรือในบางแทร็คจะมีเสียงคน กับเสียงเครื่องดนตรีปนกันอยู่ เนื่องจากแทร็คไม่พอ (นี่ขนาดกลองทั้งชุด ใช้ไมโครโฟนจับเสียงตรงหน้าชุดกลองแค่สองตัวเท่านั้น มีไมโครโฟนจับที่กลองเหยียบเผื่อไว้อีกตัวเดียว ซึ่งตอนมิกซ์จริงๆไม่ค่อยได้ใช้แทร็คนี้สักเท่าไรนัก)ผมกับคุณอู่จึงต้องแบ่งหน้าที่กันคนละครึ่งบอร์ดมิกเซอร์ จัดนู่นหมุนนี่สดๆระหว่างมิกซ์ดาวน์ถ่ายเสียงลงเทปdat2แทร็คเพื่อใช้เป็นมาสเตอร์อีกที บางครั้งจังหวะการหมุนของมือกับเสียงไม่ลงรอยกัน ก็ต้องเริ่มทำกันใหม่ตั้งแต่ต้นเพลง มีการนำเอฟเฟคอนาล็อกเสียงแปลกๆที่ใช้กับกีตาร์ มาใช้มิกซ์เสียงร้องในงานนี้แบบเข้าท่าเข้าที ที่สำคัญ ผมจะกำชับเลยว่า เราจะไม่แต่งเสียงทุ้มแหลมอะไรให้มันผิดธรรมชาติ เน้นเสียงตอนบันทึกอย่างไร ก็ให้ออกมาแบบนั้น อาจได้ยินแล้วไม่ใสขัดใจผู้ฟัง แต่ความรู้สึก LoFi แบบนี้ฟังแล้วหูไม่ล้า ให้ความรู้สึกร่วมที่ดีกว่า

พี่ซัน สนทนากับ พี่ต๊อด


ผลที่ออกมาถือว่าประสบความสำเร็จ เป็นงานที่น่าพอใจครับ ยอดขายไม่ต้องพูดถึง(ฮา) พี่ซันเคยบอกว่า นี่เป็นอัลบั้มที่ใช้ทุนเยอะเป็นอันดับต้นๆของผลงานทั้งหมดในบริษัทเลย ขอบคุณพี่ซันที่เชื่อมั่นในงานของผมครับ ผมยังติดหนี้บุญคุณพี่ซันจวบจนทุกวันนี้.



กองเชียร์  พี่ซัน  นายแว่น  วุธ  อู๊ด  พี่ต้อย





พาราณสี ออเคสตรา (ตอนที่ 3)


ยังมีศิลปินอีกมากมายทีเดียวที่ผมอยากให้มาร่วมงาน พาราณสี ออเคสตรา พี่ซันก็จัดให้แบบตามใจกันจนผมเกือบเสียผู้เสียคนเลยทีเดียว



คุณอา อำรุง เกาไศยนันท์ (นักพูด)
ผมติดใจการพูดตามงาน แสงสีเสียง ของคุณอา อำรุง มานาน แต่ผมไม่รู้จักว่าเป็นใคร หน้าตาก็ไม่เคยเห็น ผมถามพี่ซันว่า “พี่ซันครับ คนที่พูดงานแสงสีเสียงบ่อยๆแบบ... กรุงศรีอยุธยา เป็นราชธานี...(ดัดเสียงแบบคุณอา) พี่ซันรู้จักไหมครับ?” พี่ซันบอกว่า มีสองคนนะ เสียงใกล้ๆกัน แต่น่าจะเป็นคุณอา อำรุง พี่ซันจัดแจงสืบจนได้เบอร์โทรศัพท์ของคุณอา และติดต่อให้แกมาบันทึกเสียงที่ห้อง ครั้งแรกที่เจอกัน พอได้ฟังเพลง คนดี(Part l) แกถามเลยว่า เกี่ยวกับการเมืองหรือเปล่า พวกเราบอกว่าเปล่า เป็นเพลงpopวัยรุ่นธรรมดา แกบอก งั้นได้เลย ตอนบันทึกเสียงเป็นไปอย่างรวดเร็วมาก ลงจังหวะพอดิบพอดี เทคแรกก็ผ่านแล้ว แต่ผมรบกวนคุณอาเผื่อไว้อีกเทคหนึ่ง กันพลาด แกบอกว่าแกก็เล่นดนตรีนะ เล่นไวโอลิน ไม่ต้องห่วงเรื่องจังหวะ ผมเลยได้ความรู้อีกอย่างหนึ่งว่า คุณอาเป็นนักดนตรีด้วย ตอนทราบข่าวการเสียชีวิตของคุณอา ผมตกใจมาก เรื่องราวในวันที่พวกเราบันทึกเสียงกันวิ่งวนเข้ามาในหัวของผมทั้งวัน ขอคุณอาหลับให้สบายนะครับ ขอบคุณสำหรับทุกสิ่งครับ



เต้ย บอยไทย (ซอด้วง)
วงการดนตรีไทยเดิม ผมยิ่งไม่รู้จักใครเข้าไปใหญ่ รู้แต่ว่าช่วงนั้นผมชอบฟังเพลงของ บอยไทย จากการสืบเสาะของพี่ซัน เราจึงได้เบอร์โทรศัพท์ติดต่อ คุณชัยยุทธ โตสง่า หัวหน้าวงบอยไทยในขณะนั้น และแสดงความจำนงว่าอยากได้มือซออู้ มาร่วมงานบันทึกเสียงในเพลง พ่อ คุณชัยยุทธบอกว่ามีมือซออยู่คนหนึ่งชื่อเต้ย ในวันบันทึกเสียงผมเปิดเพลงพร้อมอธิบายความ ว่าทำไมต้องเป็นซอ และซอต้องเศร้าแค่ไหน “ซอแทนแม่ ซึ่งเป็นผู้ให้และเป็นผู้รอ” ปัญหาอยู่ที่ซออู้ ขึ้นสายอย่างไรก็ไม่ถึงโน้ตที่กำหนด ขึ้นตึงมากจนสายซอขาดเลย คุณชัยยุทธบอกว่า ถ้าอย่างนั้นคงต้องเป็นซอด้วง พร้อมกลับออกไปชั่วโมงเศษๆเพื่อนำเอาซอด้วงมาบันทึกเสียงอีกครั้ง ทุกอย่างผ่านไปด้วยดี เสียงซอเพลงนี้เศร้ามาก

ปนัดดา เพิ่มพานิช (เชลโล่)
จริงๆผมวางตัวพี่ กิตติคุณ สดประเสริฐ เอาไว้ เพราะเคยเห็นฝีมือตอนร่วมงานทำเพลงด้วยกันครั้งอดีต ทั้งๆที่ถ้าติดต่อไปจริงๆแกก็คงจำผมไม่ได้หรอก เพราะนานมากร่วม10ปีแล้ว พี่ซันบอกว่าคนที่บันทึกเสียงเชลโล่ให้งานพี่ซันก็เก่งนะ รู้จักกันมีเบอร์โทรศัพท์ติดต่อได้อยู่ ไม่ผิดหวังครับ คุณปนัดดาเล่นเชลโล่ได้ไพเราะ เพลงธรรมชาติ ของผม ฟังแล้วสวยงามมากจริงๆ ต้องขออภัยคุณปนัดดาย้อนหลังด้วยครับที่ผมเขียนโน้ตเชลโล่เป็นกุณแจซอล ด้วยความไม่รู้ ทำให้เล่นลำบากเข้าไปอีก



อ.ดำริห์ บรรณวิทยกิจ (โอโบ)
ช่วงโซโล่ของเพลง สายเกินไป ผิดคิดให้โอโบ แทนความคำนึง คุณปนัดดา แนะนำ อ.ดำริห์ มาบันทึกเสียงให้ ตอนอาจารย์เป่า ผมน้ำตาซึมเลย เศร้า เหงา จริงๆ บันทึกไว้เผื่อเลือก สามเทค ดีทุกเทค





มาโนช พุฒตาล (กีตาร์ และ พูดบรรยาย)
เพลงธรรมชาติ ผมแต่งไว้เป็นเพลงบรรเลง ความคิดตอนนั้นอยากได้คนที่ชอบสัมผัสกับป่าเขา มาถ่ายทอด ผมชวนพี่ซันเล่นกีตาร์บรรเลงในเพลงนี้ก่อน ซาวด์ดิบๆจาก เทเลคาสเตอร์ ช่างจับใจเสียจริง แต่มันเหมือนขาด ขาดอะไรไปบางอย่าง ผมเลยนึกสนุก ชวนพี่ซันพูดอะไรก็ได้ลงไปในเพลงเลย ก็ได้แบบที่ได้ยินได้ฟังกันนะครับ ธรรมชาติจริงๆ สดๆ เท่าที่จำได้ไม่เกิน2เทค แบบไม่มีสคริป มีแต่หัวข้อใหญ่ๆที่พี่ซันจดกันลืมมาคร่าวๆเท่านั้น




กลุ่มคอรัส เด็กหญิง
ณัฐชา ไชยมงคล , พิชานุช อัสดรธีรยุทธ์ , พิมพ์วดี อัสดรธีรยุทธ์ , นันทรัตน์ วศินระพี , กมลนัดดา ธำรงลักษณ์ , สิระประไพ ธำรงลักษณ์ , กัญญาวีร์ สิงหเสนี , ปุณฑริกา วันทา
กลุ่มนักเรียนร้องเพลงโรงเรียนดนตรีของ อัยย์ มาร้องประกอบเพลงพ่อ ตอนท้าย ทำการบ้านกันมาดีครับ ปัจจุบันลองพิมพ์ชื่อในกูเกิ้ล บางคนเป็นนักเทนนิสเยาวชนไปแล้ว น่าดีใจจริงๆ




กลุ่มคอรัส ชาย
กฤตยา จารุกลัส(ไตรภาค , ในทรรศนะของข้าพเจ้า) , ปภงกร วรรธนะสิน(นายแว่นงานดนตรี) , อู๊ด สุดดี(Zip Code,ปัจจุบันนักทำเพลงบริษัทRS) , บัณฑิต แซ่โง้ว(Zip Code,ปัจจุบัน MUZU)

ศิลปินคุณภาพของไมล์สโตนทั้งสิ้น ต้องขอขอบคุณอีกครั้งไว้ณ.โอกาสนี้ครับ

พาราณสี ออเคสตรา (ตอนที่2)


หลังจากที่นัดคุยแนวทางของเพลง และแผนการทำงาน(ที่คิดเอาไว้ใหญ่มาก) เราก็ทยอยค่อยๆเริ่มกันไปทีละนิดทีละหน่อย จากการติดต่อเชิญศิลปินนักพูด นักร้อง นักดนตรีท่านอื่นๆที่ผมอยากร่วมงานด้วยหลายๆท่าน ซึ่งพี่ซันก็นึกสนุกไปกับผมด้วย ทุกวันนี้เวลาคุยให้ใครๆฟังแกยังพูดกลั้วหัวเราะ “ผมก็บ้าไปกับมันด้วย”



จากซ้าย  พี่จู๊ด  วุธ  พี่ซัน  ใบไม้  พี่ต๊อด  ผม  พี่ตุ้ย

พี่ต๊อด วรรณยศ มิตรานนท์ (กลอง)
ทีแรกในแผนของผม ผมคิดถึงมือกลองคือ สู เพราะผมพอจะรู้จักกับสู แล้วตอนนั้นสูก็โด่งดังจากการเป็นมือกลองบันทึกเสียง พี่ซันบอกว่าเพลงซาวด์เก่าๆแบบนี้แกรู้จักมือกลองอยู่คนหนึ่งเป็นมือห้องอัดเหมือนกัน ชื่อพี่ต๊อด ตีกลองมานาน สนิทกันเป็นการส่วนตัว น่าจะเหมาะกับงานนี้มากกว่า ผมคุ้นชื่อพี่ต๊อดในปกเทปอัลบั้มต่างๆมาตั้งแต่เด็ก กับวงInfinity  งานเดี่ยวพี่เล็กคาราบาว ฯลฯ ซาวด์และลูกเล่นกลองแบบยุคเก่า ผมเห็นด้วยกับพี่ซันทันที เรานัดกันขับรถไปที่พัทยาร้านที่พี่ต๊อดเล่นประจำอยู่ เพื่อชักชวนและทิ้งเทปตัวอย่างไว้ให้พี่ต๊อดฟัง ขาไปผมพูดถึงความกังวลให้พี่ซันฟังว่า พี่ต๊อดจะมาตีกลองให้เด็กที่ไม่รู้จักกันแบบผมหรือ เพลงอะไรก็ไม่รู้ พี่ซันว่า “แกน่าจะยินดีนะ แกนิสัยดี ไม่ถือตัว” พอเจอตัวจริงได้นั่งคุยกัน ผมคลายความกังวลไปเยอะ พี่ต๊อดให้ความเป็นกันเองอย่างสูงสุด
ขากลับ ผมขับ wanderer ของผมฝ่าสายฝนที่กระหน่ำลงมาอย่างไม่ลืมหูลืมตา มองทางข้างหน้าเกือบไม่เห็น ทำเอาพี่ซันต้องบอกว่า “ช้าๆหน่อยก็ได้ตั้น ฝนขนาดนี้ยังขับร้อยกว่าอีกเหรอ”



พี่พิทักษ์ ศรีสังข์ (เบส)
ตอนนั้นไม่มีมือเบสในหัวเลย รู้แค่ว่าอยากได้ซาวด์แจ็สเบสเฟนเดอร์รุ่นเก่าๆ หรืออาจจะต้องหาเบสรุ่นใกล้ๆกันนั้นเพื่อบันทึกเสียงเองเสียแล้ว แต่ด้วยผมเลิกเล่นดนตรีไปหลายปี(ร่วม6ปี)จึงไม่มั่นใจตัวเองเลย ปรึกษาพี่ซัน แกบอกว่ามีเพื่อนที่มีเบสรุ่นนี้อยู่แล้วก็เล่นเบสดีเสียด้วยสนใจไหม? ผมถามว่าใคร แกบอก พิทักษ์ ศรีสังข์ (โหหหหห ผมคิดในใจ) ได้มือเบสระดับนี้มาบันทึกเสียงให้ ผมจะปฏิเสธได้อย่างไร พี่พิทักษ์เล่นเบสแบบเคารพต้นฉบับ โน้ตต่อโน้ต พอบันทึกเสียงเสร็จพี่แกบอกกับผมว่าตั้งแต่เล่นบันทึกเสียงให้ไมล์สโตนมา อัลบั้มนี้เล่นเบสสนุกที่สุด ผมภูมิใจมากครับ ค่ำนั้นพี่ซันให้เบิกงบพาพี่พิทักษ์ไปเลี้ยงมื้อเย็นที่13เหรียญ รัชดาซอย18 ผมนั่งดื่มและคุยกับพี่พิทักษ์เป็นที่สนุกสนาน



พี่ชีพชนก ศรียามาตย์ (อคูสติก กีตาร์)
เรื่องอคูสติก กีตาร์ ผมนึกถึงพี่เขาเป็นอันดับแรก ไลน์กีตาร์โปร่งที่ผมคิดไว้ในเพลง ธรรมชาติ นั้นยากทีเดียว สำคัญคือเมื่อยนิ้วมาก ณ.ตอนนั้นถ้าผมบันทึกเสียงเองคงไม่รอด คนเลิกเล่นดนตรีมาหลายปี แรงนิ้วไม่มีหรอกครับ พี่ซันโทรศัพท์ติดต่อ พี่ชีพชนกโอเค



พี่พงษ์ศักดิ์ ภูววีรานนท์ (ไนลอนสตริง กีตาร์)
เพลง สายเกินไป ผมแต่งด้วยกีตาร์สายเอ็น เพราะอยากได้ซาวด์นุ่มๆ เศร้าๆ ส่วนในเรื่องการบันทึกเสียงก็เหมือนเดิมครับ คนนิ้วอ่อนจากการเปลี่ยนชีวิตไปทำงานออฟฟิศในขณะนั้นแบบผม ให้มืออาชีพที่เล่นประจำๆอยู่แล้วบันทึกเสียงให้ดีกว่า ตามโน้ตและตำแหน่งบนคอกีตาร์ที่ผมออกแบบไว้ เสียงออกมาเพราะมาก ก็พี่เขาอยู่ทีม บัตเตอร์ฟลาย นี่ครับ



สราวุธ แสงบุตร (กีตาร์ 12 สาย)
วุธ ช่วงนั้นเจอกันเป็นประจำทุกวัน ผมเลยให้วุธช่วยเล่นกีตาร์12สายในเพลง ฉันยังอยู่ เพราะพูดจริงๆเลยก็คือ ผมไม่เคยเล่นกีตาร์12สายมาก่อนในชีวิต ลองจับๆดูของพี่ซัน ตอนที่แกยกมาให้วุธใช้บันทึกเสียงเพลงนี้ ผมว่าผมคิดถูกแล้วล่ะ - -‘



อัยย์ วีรานุกูล

ผมเป็นแฟนเพลงของ อัยย์ ผมว่าเสียง อัยย์ มีเสน่ห์นะ จำได้ว่าพี่ซันพาผมลุยเข้างานเปิดตัวศิลปินใหม่ของโซนี่ แถวๆย่านห้างเมโทรประตูน้ำ เพื่อไปคุยกับอัยย์ แล้วพี่ซันก็เดินไปคุยกับคุณ ปีเตอร์ กัน บอสใหญ่โซนี่มิวสิคในขณะนั้น ผลปรากฏว่าทั้งคู่ยินดี ผมจึงได้ อัยย์ มาใส่เสียงในเพลง คนดี(Partll) และ คานธี.

วันจันทร์ที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2557

พาราณสี ออเคสตรา (ตอนที่1)

(พ.ศ. 2542)



เย็นวันศุกร์ ปลายปีพ.ศ.2541 ผมเดินทางฝ่ารถติดไปยังถนนสุขุมวิท จุดหมายปลายทางคือ ซอย8 ที่ตั้งสำนักงานนิตยสาร บันเทิงคดี ของบริษัท ไมล์สโตน ตอนนั้นเป็นเวลา 6โมงเย็นพอดิบพอดี ผมคิดในใจว่าคงไม่มีใครอยู่รอแล้ว เพราะเลยเวลาเลิกงานมาพอสมควร ผมและเพื่อน(อดีตภรรยา)รีบเดินจ้ำจากที่เราจอดรถอยู่กลางซอยเพื่อมาให้ถึงบริเวณปากซอยให้เร็วที่สุด ในมือถือถุงผ้าดิบซึ่งด้านในใส่แฟ้มประวัติ แผนงาน รูปภาพ เทปเพลงตัวอย่างของผมมาด้วย คิดอยู่ในใจว่า ครั้งนี้คงเป็นครั้งสุดท้ายกับความฝันลมๆแล้งๆในการเป็นศิลปินออกอัลบั้มกับเขาสักชุด

ก่อนหน้านั้น ผมเคยนำเทปเพลงตัวอย่างนี้ไปเสนอกับ โซนี่มิวสิค โดยคุณก๊อป ทีโบน เป็นผู้รับเรื่องพิจารณา ผ่านไปสองสัปดาห์ได้คุยกับคุณก๊อปอีกครั้ง คุณก๊อปบอกว่า “สนใจนะ แต่ไม่เหมาะกับค่าย วันหนึ่งคงได้ร่วมงานกัน เพลงคุณดี” ทำให้ตัวผมเองคิดว่าเพลงรูปแบบนี้คงยากที่จะมีคนสนใจ ตอนนั้นผมถอดใจแล้ว

วันหนึ่งผมได้พบกับน้องสาว(น้องสาวของผมทำงานอยู่ช่อง3)ที่บ้านแม่ ผมเอาเทปตัวอย่างนี้เปิดให้น้องสาวฟัง น้องของผมบอกว่า “เพลงแบบนี้มันดีนะ แต่ค่ายทั่วไปเขาไม่สนหรอกมันไม่ตลาด ทำไมถึงไม่ลองไปเสนอที่ค่ายของพี่ มาโนช พุฒตาล ดูล่ะ” ด้วยความที่น้องสาวผมเคยไปทำข่าวบันเทิงที่ไมล์สโตนในสมัยนั้น และได้รับแจกเทปเพลงอัลบั้มต่างๆมา ผมบอกกับน้องของผมว่า ก็เคยคิดนะ แต่ศิลปินของค่ายนี้ เนื้อหาลึกทุกคน ไม่มีPopเลย(นั่น...ผมยังคิดว่างานของผมเป็นแนวPopอยู่) โดยเฉพาะงานส่วนตัวของพี่ซัน มาโนช เอง แกจะมองงานของเฮีย(สรรพนามแทนตัว เวลาคุยกับน้อง)หรือ? น้องสาวว่า ไม่ลองเสียหน่อยล่ะ



ผมโทรศัพท์ไปที่ไมล์สโตนโดยค้นเบอร์โทรจากปกเทปและหนังสือบันเทิงคดี มีคนรับสายผมดีใจมาก พูดผิดๆถูกๆเลยล่ะ สรุปใจความว่าทางบริษัทก็รับเทปตัวอย่างอยู่เรื่อยๆ แต่ให้ดูว่างานของเราเป็นแนวทางแบบที่บริษัทต้องการหรือไม่ กลัวผมจะเสียเวลาคาดหวัง ผมตอบรับสั้นๆ “ครับ” คิดในใจว่า นี่ล่ะครั้งสุดท้าย เฮือกสุดท้ายแล้ว

ผมไปยืนรออยู่หน้าบริษัทสักอึดใจ เห็นพี่ซันเอาค้อนตอกนู่นตอกนี่อยู่ สักพักแกก็ออกมารับถุงผ้าดิบที่ข้างในมีอะไรเยอะแยะไปหมดของผมด้วยตัวของแกเอง ยิ้มแย้มแจ่มใส “เสียงพูดของแก เหมือนในทีวีเปี๊ยบเลย” ผมคิด หนึ่งในฮีโร่ของผมยืนคุยอยู่กับผมห่างกันไม่ถึงเมตร ตื่นเต้นจนจับใจความอะไรไม่ค่อยได้หรอกครับ รู้แต่ประโยคสุดท้ายพี่ซันบอกว่า “ประมาณ15วันนะครับ ถ้าไม่โทรไปแสดงว่าไม่ได้ ถ้าได้ผมจะเป็นฝ่ายโทรไปเอง

ผมกลับไปบ้าน รอ...รอ...รอ...วันจันทร์มีโทรศัพท์มาที่บ้าน ผมรับสายได้ยินเสียงปลายทางแทบลมจับ “สวัสดีครับ ขอสายคุณชัยวัฒน์ครับ ผมชื่อ มาโนช จะโทรมานัดคุยว่าเราจะทำยังไงกันต่อไปเกี่ยวกับเพลงชุดนี้ดี” นัดแนะกันเรียบร้อย พอวางสายเท่านั้นล่ะครับ ผมตะโกนเหมือนคนบ้า วิ่งไปรอบๆบ้าน ทั้งหัวเราะ ทั้งร้องไห้ “มีคนเห็นแล้ว มีคนเห็นแล้ว” ผมมารู้จากปากของพี่ซันหลังจากทำอัลบั้มเสร็จแล้วว่า เย็นวันศุกร์วันนั้น พอผมลากลับ แกก็เข้าไปเปิดเทปเพลงของผมฟังเลย จะโทรหาก็ค่ำแล้ว เสาร์ อาทิตย์คงเป็นวันครอบครัว เลยโทรหาผมวันจันทร์ แกว่าเพลงแบบนี้ กลิ่นBeatlesแบบนี้ แปลกดี ยังไม่มีใครทำ.