(พ.ศ.2550)
“สวัสดีครับ ผมกบ รุ่นพี่ของเอ็กซ์ จำได้ไหมครับ” กบ นิมิต จิตรานนท์
สามีของเจี๊ยบ วรรธนา วีรยวรรธน โทรศัพท์หาผมในวันหนึ่ง ผมตอบไปว่า “จำได้สิ
ทำไมจะจำไม่ได้” ก็เคยลุยทำเพลงเสนอค่ายกันมาครั้งที่ The Wanderers ส่งเดโมเพลงตัวอย่างให้บริษัทนั้นบริษัทนี้พิจารณาอยู่
ห้องบันทึกเสียงที่ใช้ก็ของกบ(ซึ่งตอนนั้นยังอยู่ในส่วนชั้นบนของโรงเรียนสอนร้องเพลงที่เก่าของเจี๊ยบ) กบเล่าให้ฟังว่า
เจี๊ยบ กำลังทำเพลงอัลบั้มใหม่เกือบจะเสร็จแล้ว ติดอยู่เพลงหนึ่ง เป็นเพลงลีลาแบบ world
music อยากให้มีเครื่องดนตรีของหลายๆเชื้อชาติมาประกอบ
หนึ่งในเครื่องดนตรีที่กบคิดไว้และอยากให้มีอยู่ในเพลงคือ ซีตาร์
เครื่องดนตรีของประเทศอินเดีย ซึ่งกบหาคนมาเล่นบันทึกเสียงยังไม่ได้ สืบไปสืบมา
งานมาเข้าเอาที่ผม สืบเนื่องมาจากการที่ผมกับเอ็กซ์ (วรเวท จันทรบุตร The
Wanderers) เคยเป็นศิลปินอยู่ค่ายเดียวกันคือ ไมล์สโตน (ของพี่ซัน
มาโนช พุฒตาล) ตอนนั้นผมใช้ชื่อโปรเจคว่า พาราณสี ออเคสตรา มีการนำ ซีตาร์
มาใช้บันทึกเสียงอยู่2เพลง เอ็กซ์คงจำได้และบอกกับกบไป
กบคุยโทรศัพท์กับผมอยู่สักพักใหญ่ๆ ทีแรกผมปฏิเสธ(ทั้งๆที่ใจจริงอยากร่วมงานด้วยมาก)
เพราะหลังจากงาน พาราณสี ผมก็ไม่ได้แตะต้อง ซีตาร์
อีกเลยเนื่องด้วยไม่มีเหตุให้ต้องใช้ และความยุ่งยากของซีตาร์อย่างหนึ่งคือ
ถ้าไม่ได้ใช้นานๆ เวลาเอามาตั้งสายให้ตรงใหม่ไม่ว่าจะหย่อนลง หรือตึงขึ้น
สายจะขาดไปเสียครึ่งหนึ่ง(ร่วมๆสิบเส้น) ต้องเสียเวลาเปลี่ยนสายเส้นหนึ่งๆใช้เวลาไม่น้อยเลย
กบเกี้ยวผมอยู่นาน ผมจึงบอกกับกบไปว่า “เอาแบบนี้นะกบ เราจะลองเปลี่ยนสายดูก่อน
ถ้าซีตาร์โอเค เราก็ยินดี แล้วซีตาร์ของเรา เราตั้งเป็นคีย์Cนะ (ตามสากลส่วนใหญ่ทั่วไป)”
กบตอบกลับมาว่าไม่มีปัญหา เพลงทดคีย์ตามซีตาร์ได้
ผ่านไปสามวัน(ซึ่งเป็นสามวันที่ทรมานใจมาก เนื่องจากการเปลี่ยนสายซีตาร์นี่ล่ะ 555)
ผมโทรศัพท์กลับไปที่กบ
แจ้งข่าวว่า “สำเร็จ” ส่งซีดีมาให้ผมคิด และซ้อมได้เลย
ช่วงเวลานั้นความรู้สึกถึงพลังของ พาราณสี ออเคสตรา
ได้กลับมาเต็มเปี่ยม ผมนั่งซ้อมซีตาร์กับซีดีไกด์แผ่นนั้น
แก้ไขโน้ตบางตัวซึ่งซีตาร์จริงๆทำไม่ได้ออกไป
และได้เพิ่มโน้ตบางตัวเข้าไปแทน(ไม่มากหรอกครับ
กบคิดโน้ตมาสวยอยู่แล้ว)โดยแจ้งข่าวให้กบรู้เป็นระยะๆ
แล้ววันนัดบันทึกเสียงก็มาถึง กบนัดผมที่ห้องบันทึกเสียงของกบแถวสุขาภิบาล จำได้ว่าเล่นบันทึกไปไม่กี่เทค
เสียเวลานิดหน่อยตอนจัดไมโครโฟนรับเสียงเท่านั้นเอง เพราะเครื่องอคูสติกจัดตำแหน่งไมโครโฟนรับเสียงยาก
ทุกอย่างสำเร็จลงด้วยดี น้องซาวด์เอนจิเนียที่ชื่อป้อม
ตั้งใจทำงานมาก(ปัจจุบันเสียชีวิตไปแล้ว) จำได้ว่าป๊อบ อินคา
อยู่ในเหตุการณ์วันนั้นด้วย ป๊อบ ทักทายผมเป็นอย่างดี บอกว่าคุ้นหน้าผมมาก
ด้วยความที่ไม่ได้เจอหน้ากันนาน ต้องรื้อฟื้นกันเสียยกใหญ่ หลังงานเสร็จ
กบบอกว่าต้องขอแรงไปถ่ายภาพกันที่เขางู ราชบุรีด้วย และอาจต้องรบกวนไปถ่ายMVที่ห้องบันทึกเสียงคาราบาว
ผมตอบกบไปว่า “ด้วยความยินดี”.