ก่อนเปิดห้อง

ห้องเก็บของสำหรับผม ก็คล้ายๆเป็นที่เก็บความทรงจำมากมายหลายอย่าง ของที่ยังใช้ได้ แต่ไม่มีโอกาสได้ใช้ ของที่เสียที่ชำรุดแล้ว แต่มีค่ามากกว่าที่จะทิ้งมันไป ของเก่าๆที่ไม่เข้ากับชีวิตปัจจุบัน กับยุคสมัยที่เปลี่ยนไป รูปภาพ ม้วนเทปเพลงที่เคยแต่งเคยบันทึกไว้ง่ายๆ นานจนลืมไปแล้วว่ามีกี่เพลง เพลงอะไรบ้าง จดหมาย สมุดบันทึกในช่วงชีวิตต่างๆ มีเรื่องราวเกี่ยวกับตัวผมมากมายที่ครอบครัวผมเองก็ยังไม่เคยรู้ นานมากแล้วนะ ที่ไม่ได้เปิดประตูเข้าไปดูมันเลย ลองเข้าไปดูกับผมมั้ย?

*ก่อนอื่นต้องขอขอบคุณเจ้าของรูปภาพประกอบเรื่องราวทั้งหลายมา ณ.ที่นี้ นิตยสาร สื่อสิ่งพิมพ์ ผู้ออกแบบปกอัลบั้มต่างๆ ทั้งภาพที่พี่ๆศิลปินส่งมาให้ ภาพเก่าที่บราเธอร์ , มาสเตอร์ หรือเพื่อนเก่าๆได้ถ่ายเอาไว้ ใครเป็นคนถ่ายบ้างก็ไม่รู้มั่วไปหมด รูปภาพที่มีผม ผมไม่ได้ถ่ายเองอยู่แล้ว แม้บางภาพจะเป็นกล้องและฟิล์มของผมเองก็ตาม


วันอังคารที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2557

พาราณสี ออเคสตรา (ตอนที่ 4)


จากความเรื่องมากในด้านความต้องการหาศิลปินมากหน้าหลายตามาร่วมงานแล้ว ด้านการบันทึกเสียงผมก็ยังสู้อุตส่าห์เพิ่มความมากเรื่องเข้าไปอีก ห้องบันทึกเสียงต้องเป็นระบบ อนาล็อก เครื่องบันทึกเสียงเทป2นิ้ว ซึ่งในตอนนั้นในเมืองไทยแทบจะไม่มีแล้ว พี่ซันพาผมไปดูห้องบันทึกเสียง Gecco Studio Complex ห้องบันทึกเสียงระบบ อนาล็อกชั้นแนวหน้า ในซอยสุขุมวิท39 ได้ไปพูดคุยกับพี่ณัฐเจ้าของกิจการถึงแผนงานบันทึกเสียงและความเป็นไปได้ที่จะทำ พี่ณัฐแนะนำพี่ตุ้ย ทศพร รุ่งวิทยา ซาวด์เอนจิเนียจบจากนอก ที่ทำงานในสายดนตรีมานาน คุณอู่ ไตรเทพ วงค์ไพบูลย์ มือมิกซ์เสียงที่จบมาจากนอกเช่นกัน และมีน้องชายของเพื่อนผม โช จักรกฤช บัวเอี่ยม มาช่วยดูแลระบบ

พี่ตุ้ย กับ ผม

การบันทึกเสียงแบบนี้ แน่นอนว่าย่อมต้องลำบากกว่าการบันทึกเสียงในปัจจุบัน การแก้ไขข้อผิดพลาดในรายละเอียดแทบจะทำไม่ได้เลย บางทีหูได้ยินตำหนิของเสียงบางเสียงแต่ก็ต้องปล่อยผ่าน เรียกว่าถ้าส่วนใหญ่ดี ส่วนน้อยที่เป็นติ่งเสีย เราก็ต้องทำใจ  จึงเป็นที่มาของความดิบแบบโบราณ เครื่องดนตรีทุกชิ้นเล่นกันไม่กี่เทค เน้นความเป็นธรรมชาติ ธรรมชาติของมนุษย์ที่ไม่มีอะไรสมบูรณ์แบบ ครั้งหนึ่งจำได้ว่า เครื่องบันทึกเสียงชำรุด ทำเอาใจผมเสียเลย เพราะไม่รู้ว่าเครื่องที่มีอายุขนาดนี้จะซ่อมได้หรือไม่ มีอะไหล่หรือเปล่า ระยะเวลานานขนาดไหน ซ่อมเสร็จแล้วสปีดความเร็วจะเท่าเดิมไหม เพราะสิ่งที่บันทึกเข้าไปแล้วมันเรียกกลับคืนมาเก็บไว้ที่อื่นไม่ได้แล้ว หรือจะต้องบันทึกกันใหม่ทั้งหมด? การซ่อมแซมเครื่องในครั้งนั้นใช้เวลา 20กว่าวัน เครื่องก็กลับมาใช้งานได้ปกติ



อัลบั้มพาราณสี ออเคสตรา ใช้คิวบันทึกเสียงทั้งสิ้นรวมมิกซ์ดาวน์แล้ว 35 คิว ก็เสร็จสมบูรณ์ ความยากในการมิกซ์คือใช้มือคนล้วนๆ ไม่ว่าจะเป็นการแพนซ้ายขวา การเฟดเสียงดังเบาในบางท่อน หรือในบางแทร็คจะมีเสียงคน กับเสียงเครื่องดนตรีปนกันอยู่ เนื่องจากแทร็คไม่พอ (นี่ขนาดกลองทั้งชุด ใช้ไมโครโฟนจับเสียงตรงหน้าชุดกลองแค่สองตัวเท่านั้น มีไมโครโฟนจับที่กลองเหยียบเผื่อไว้อีกตัวเดียว ซึ่งตอนมิกซ์จริงๆไม่ค่อยได้ใช้แทร็คนี้สักเท่าไรนัก)ผมกับคุณอู่จึงต้องแบ่งหน้าที่กันคนละครึ่งบอร์ดมิกเซอร์ จัดนู่นหมุนนี่สดๆระหว่างมิกซ์ดาวน์ถ่ายเสียงลงเทปdat2แทร็คเพื่อใช้เป็นมาสเตอร์อีกที บางครั้งจังหวะการหมุนของมือกับเสียงไม่ลงรอยกัน ก็ต้องเริ่มทำกันใหม่ตั้งแต่ต้นเพลง มีการนำเอฟเฟคอนาล็อกเสียงแปลกๆที่ใช้กับกีตาร์ มาใช้มิกซ์เสียงร้องในงานนี้แบบเข้าท่าเข้าที ที่สำคัญ ผมจะกำชับเลยว่า เราจะไม่แต่งเสียงทุ้มแหลมอะไรให้มันผิดธรรมชาติ เน้นเสียงตอนบันทึกอย่างไร ก็ให้ออกมาแบบนั้น อาจได้ยินแล้วไม่ใสขัดใจผู้ฟัง แต่ความรู้สึก LoFi แบบนี้ฟังแล้วหูไม่ล้า ให้ความรู้สึกร่วมที่ดีกว่า

พี่ซัน สนทนากับ พี่ต๊อด


ผลที่ออกมาถือว่าประสบความสำเร็จ เป็นงานที่น่าพอใจครับ ยอดขายไม่ต้องพูดถึง(ฮา) พี่ซันเคยบอกว่า นี่เป็นอัลบั้มที่ใช้ทุนเยอะเป็นอันดับต้นๆของผลงานทั้งหมดในบริษัทเลย ขอบคุณพี่ซันที่เชื่อมั่นในงานของผมครับ ผมยังติดหนี้บุญคุณพี่ซันจวบจนทุกวันนี้.



กองเชียร์  พี่ซัน  นายแว่น  วุธ  อู๊ด  พี่ต้อย