ก่อนเปิดห้อง

ห้องเก็บของสำหรับผม ก็คล้ายๆเป็นที่เก็บความทรงจำมากมายหลายอย่าง ของที่ยังใช้ได้ แต่ไม่มีโอกาสได้ใช้ ของที่เสียที่ชำรุดแล้ว แต่มีค่ามากกว่าที่จะทิ้งมันไป ของเก่าๆที่ไม่เข้ากับชีวิตปัจจุบัน กับยุคสมัยที่เปลี่ยนไป รูปภาพ ม้วนเทปเพลงที่เคยแต่งเคยบันทึกไว้ง่ายๆ นานจนลืมไปแล้วว่ามีกี่เพลง เพลงอะไรบ้าง จดหมาย สมุดบันทึกในช่วงชีวิตต่างๆ มีเรื่องราวเกี่ยวกับตัวผมมากมายที่ครอบครัวผมเองก็ยังไม่เคยรู้ นานมากแล้วนะ ที่ไม่ได้เปิดประตูเข้าไปดูมันเลย ลองเข้าไปดูกับผมมั้ย?

*ก่อนอื่นต้องขอขอบคุณเจ้าของรูปภาพประกอบเรื่องราวทั้งหลายมา ณ.ที่นี้ นิตยสาร สื่อสิ่งพิมพ์ ผู้ออกแบบปกอัลบั้มต่างๆ ทั้งภาพที่พี่ๆศิลปินส่งมาให้ ภาพเก่าที่บราเธอร์ , มาสเตอร์ หรือเพื่อนเก่าๆได้ถ่ายเอาไว้ ใครเป็นคนถ่ายบ้างก็ไม่รู้มั่วไปหมด รูปภาพที่มีผม ผมไม่ได้ถ่ายเองอยู่แล้ว แม้บางภาพจะเป็นกล้องและฟิล์มของผมเองก็ตาม


วันจันทร์ที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2557

ตอนที่ 23 (วัยหนุ่ม)

Duoคู่ใหม่

ปลายปีพ.ศ.2536 ผมมีโอกาสไปเยี่ยมเยือนพี่เปี๊ยก(กฤษฎา ตันติเวชกุล อดีตกรีนแอปเปิ้ล ,ร็อคเคสตร้า)อีกครั้งหลังจากไม่ได้เจอกันหลายปีโดยบังเอิญ ด้วยการชักชวนของ โจ้ (จิรัติ ตันติเวชกุล ลูกพี่ลูกน้องของพี่เปี๊ยก)เพื่อนของผม โจ้บอกกับผมว่าพี่เปี๊ยกเปิดห้องบันทึกเสียงเป็นของตัวเองแล้วที่บ้านใหม่ของแกเอง* ผมซึ่งตอนนั้นทำห้องบันทึกเสียงเล็กๆเพิ่งเสร็จ* ก็อยากจะไปดูและขอคำแนะนำจากพี่เปี๊ยก

ห้องบันทึกเสียงของพี่เปี๊ยกถูกสร้างขึ้นอย่างดีในส่วนต่อเติมด้านข้างของบ้านเดี่ยวในซอยสุทธิสารวินิจฉัย เครื่องไม้เครื่องมือทันสมัย มีนักร้องนักดนตรีเดินเข้าออกมากหน้าหลายตา ถามไปถามมาก็รู้ว่าพี่เปี๊ยกยังรับทำเพลงและเป็นโปรดิวเซอร์ให้กับค่ายเพลงค่ายหนึ่งซึ่งผู้บริหารค่ายย้ายมาจากบริษัทมิวสิคไลน์ นักร้องที่แวะมาบันทึกเสียงให้กับพี่เปี๊ยกในตอนนั้นก็มี พี่ต๋อย อดีตนักร้องนำ เดอะเจนเนอเรชั่น, พี่มัม ลาโคนิค, พี่บิ๊ก สมภพ เทพรักษา ทีมแต่งเพลงมีพี่เป้ ข้ามเขต ศรีถาวร(บางเพลงของคุณกุ้ง ตวงสิทธิ์ เรียมจินดา เป็นฝีมือของแก) และพี่หมู(ปัจจุบันเป็นมือคีย์บอร์ดของพี่โป่ง หินเหล็กไฟ)

ผมกับโจ้เข้าไปหาพี่เปี๊ยกบ่อยพอสมควร จนวันหนึ่งพี่เปี๊ยกถามพวกเราว่าอยากทำอัลบั้มไหม?พอดีทางบริษัทอยากให้หาศิลปินชายคู่แนวโฟล์คประสานเสียงแบบSimon&Garfunkel เห็นพวกเราบ่อยๆเลยนึกถึงคนใกล้ตัวไว้ก่อน โจ้อยากทำแต่ผมลังเล เพราะเพิ่งเหนื่อยมาจากการเป็นนักดนตรีแบ็คอัพหมาดๆ แต่สุดท้ายก็ตามใจเพื่อน (จริงๆโจ้ก็กังวลนะครับจำได้ว่าโทรศัพท์มาหาผมเรื่องปัญหาการเล่นกีตาร์เพราะไม่เคยเล่นอาชีพมาก่อน*) พี่เปี๊ยกนัดพวกเราเพื่อเดินทางเข้าบริษัทไปให้ผู้บริหารดูตัวและพูดคุยกับโปรดิวเซอร์ พอไปถึงผมเห็น อาจารย์ บรูส แกสตัน(วง ฟองน้ำ) นั่งอยู่ ในชีวิตผมไม่เคยคิดว่าจะได้มานั่งพูดคุยกับแกเลยเพราะแกเป็นคนดังมากในยุคนั้น คุยไปคุยมาถึงรู้ว่าแกคือโปรดิวเซอร์ที่จะรับดูแลโปรเจคนี้ ผมดีใจมากเพราะชื่นชอบผลงานของฟองน้ำมานาน หลังจากที่ตกลงกันเรื่องแนวทางและวิธีการทำงานกันเสร็จพวกเราก็ลากลับ

โจ้ชวนผมมานั่งคุยกันต่อกับพี่เปี๊ยกที่ห้องบันทึกเสียงด้วยความอิ่มเอมใจ แต่ก็อย่างว่าครับ ความสำเร็จไม่เคยมีใครได้มาง่ายๆ วันหนึ่งทุกอย่างก็เงียบ ผลงานเด่นๆของบริษัทมีออกมาชุดหนึ่งคือ มัม ลาโคนิค หนึ่งเดียวคนนี้.

ผม  โจ้
 *ปัจจุบันห้องบันทึกเสียงของพี่เปี๊ยกในซอยสุทธิสาร ไม่มีแล้วครับ

*ห้องบันทึกเสียงเล็กๆของผมร่วมกับอดีตภรรยา ปัจจุบันไม่มีแล้วครับ


*ตั้นกับโจ้ คือชื่อที่ผมกับโจ้ใช้ประกวดดนตรีโฟล์คซองหลายเวทีสมัยยังเรียนมหาวิทยาลัย เช่นงานประกวดโฟล์คซองของบริษัทรถไฟดนตรี งานประกวดโฟล์คซอง(เพลงของวง) คนคู่ ส่วนใหญ่เข้ารอบ1ใน10 แต่ไม่เคยได้รางวัล1ใน3