ก่อนเปิดห้อง

ห้องเก็บของสำหรับผม ก็คล้ายๆเป็นที่เก็บความทรงจำมากมายหลายอย่าง ของที่ยังใช้ได้ แต่ไม่มีโอกาสได้ใช้ ของที่เสียที่ชำรุดแล้ว แต่มีค่ามากกว่าที่จะทิ้งมันไป ของเก่าๆที่ไม่เข้ากับชีวิตปัจจุบัน กับยุคสมัยที่เปลี่ยนไป รูปภาพ ม้วนเทปเพลงที่เคยแต่งเคยบันทึกไว้ง่ายๆ นานจนลืมไปแล้วว่ามีกี่เพลง เพลงอะไรบ้าง จดหมาย สมุดบันทึกในช่วงชีวิตต่างๆ มีเรื่องราวเกี่ยวกับตัวผมมากมายที่ครอบครัวผมเองก็ยังไม่เคยรู้ นานมากแล้วนะ ที่ไม่ได้เปิดประตูเข้าไปดูมันเลย ลองเข้าไปดูกับผมมั้ย?

*ก่อนอื่นต้องขอขอบคุณเจ้าของรูปภาพประกอบเรื่องราวทั้งหลายมา ณ.ที่นี้ นิตยสาร สื่อสิ่งพิมพ์ ผู้ออกแบบปกอัลบั้มต่างๆ ทั้งภาพที่พี่ๆศิลปินส่งมาให้ ภาพเก่าที่บราเธอร์ , มาสเตอร์ หรือเพื่อนเก่าๆได้ถ่ายเอาไว้ ใครเป็นคนถ่ายบ้างก็ไม่รู้มั่วไปหมด รูปภาพที่มีผม ผมไม่ได้ถ่ายเองอยู่แล้ว แม้บางภาพจะเป็นกล้องและฟิล์มของผมเองก็ตาม


วันเสาร์ที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2557

ตอนที่ 25 (วัยหนุ่ม)

ลูกกรุง

งานแต่งและเรียบเรียงดนตรีเพลงประจำบริษัทต่างๆที่เคยได้ทำไม่เคยมีเข้ามาอีกเลย คงเป็นเพราะผมแข็งเกินไปที่จะยอมแต่งเนื้อร้องหรือทำนองให้มันขัดหลักธรรมชาติของดนตรีที่ตัวแทนบริษัทบอกให้ผมทำ บางครั้งพวกเขายกตัวอย่างเนื้อร้องที่ “ช่างเย็บเครื่องหนัง” แต่งขึ้นโดยใช้ทำนองเพลงของผม ไร้สัมผัส ไร้การคำนึงถึงเสียงสูงต่ำ ฟา ฝ่า ฝ้า ฟ้า ฝา แต่แค่เรื่องราวตอบโจทย์เขา ลำบากครับหากต้องอธิบายทฤษฎีดนตรีทุกครั้งก่อนที่จะรับงานประเภทนี้ ทำให้ผมเลิกนึกที่จะยึดเป็นอาชีพไปเลย

ล้มไม่เป็นท่าอยู่หลายปี แบบจับต้นชนปลายไม่ถูกเลยล่ะ ถึงขนาดว่าต้องขุดความรู้ด้านสื่อสารมวลชนที่เรียนจบจากมหาวิทยาลัยมาใช้ ทั้งรับคิดโฆษณาสินค้าเพื่อลงพิมพ์ในสื่อสิ่งพิมพ์ให้กับบริษัทคุณพ่อของอดีตภรรยาอยู่หลายงาน วางรูปแบบและคิดคำที่จะใช้ในแคตตาล๊อกสินค้าทั้งแผ่นพับและแบบเล่มหนาๆใหญ่ๆ ผมคิดว่าชีวิตที่เกี่ยวข้องกับดนตรีของผมคงจบลงแต่เพียงเท่านั้นแล้ว ก็ให้บังเอิญคนรู้จักมาว่าจ้างให้ทำเพลงประกอบการแสดงโชว์บนเวทีของบริษัทขายตรงยักษ์ใหญ่รายหนึ่งในช่วง “แห่พระนาง” ผมนั่งแต่งและทำเพลงนี้อยู่ประมาณ5วัน5คืนแทบไม่ได้หลับได้นอน เพราะอารมณ์มันมาแล้วต้องดันให้เสร็จ ตั้งชื่อเพลงว่า อารยธรรม” ค่ำคืนวันงาน(ประมาณปีพ.ศ.2538หรือ39 จำไม่ได้แน่ชัด ต้องขออภัย)ใครที่ได้เข้าไปนั่งร่วมประชุมตัวแทนภูมิภาค ณ.สนามกีฬา ทบ.คงได้ยินในสิ่งที่ผมทำ เพลงบรรเลงแนว world music ความยาว15นาที ถูกเล่นกระหึ่มไปพร้อมกับขบวนแห่แบบโบราณอันยิ่งใหญ่ ถือเป็นความภูมิใจอีกเรื่องหนึ่งของผมทีเดียวเชียวล่ะ

การประกวดร้องเพลง เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ผมพาตัวเองดิ้นรนไปทำ เพราะมองว่าเป็นช่องทางที่อาจเปลี่ยนชีวิตได้ ทราบข่าวจากรายการวิทยุที่ฟังประจำในขณะนั้น(ประมาณปีพ.ศ.2538หรือ39 จำไม่ได้แน่ชัด ต้องขออภัย)ว่าทางรายการรับสมัครเทปตัวอย่างเสียงเพื่อคัดเลือกผู้เข้ารอบ10คนไปประกวดขับร้องเพลงไทยสากล(ลูกกรุง) ผมส่งเทปเสียงของผมในเพลง สไบแพร (ชรินทร์ นันทนาคร) ไปที่รายการ ได้ผลครับ ผมติด1ใน10 แต่วันประกวดจริงบนเวทีใหญ่ที่พณิชยการพระนคร ผมใช้เพลง แสนแสบ ในการร้องประกวด ผลคือไม่ติด1ใน3 (สงสัยชื่อเพลงจะมีผล ฮา ) แต่ก็มีความประทับใจเกิดขึ้นอีกครั้งกับชีวิต คือหนึ่งในคณะกรรมการ คุณ ชรินทร์ นันทนาคร (ตัวจริง) ได้เซ็นชื่อบนหน้าปกซีดีให้ พร้อมกับเอ่ยชมเสียงร้องของผม ทำเอาปลื้มมาจนถึงปัจจุบัน.*


*ครั้งแรกกับตำนานนักร้องเพลงลูกกรุงที่ประทับใจคือเมื่อตอนที่ผมอายุ5 - 6ขวบ ครั้งนั้นแม่ของผมพาผมไปดูภาพยนตร์ที่โรงภาพยนตร์แมคเคนน่า รอบนั้นเป็นรอบพิเศษจะมีการแสดงดนตรีก่อนที่จะฉายภาพยนตร์ จำได้ว่าคุณสุเทพ วงศ์กำแหง เดินร้องเพลงมาจากที่นั่งแถวหลังสุด เดินๆ ร้องๆก้าวลงบันไดมาเรื่อยๆ แล้วก็มายืนหยุดอยู่ที่ผม ระหว่างที่บทเพลงกำลังดำเนินไป คุณสุเทพ ก้มตัวลงมาถามผมว่า “หนู โตขึ้นอยากเป็นนักร้องไหมครับ?” ผมได้แต่ตกใจ จ้องหน้าแกอยู่แบบนั้น แกก็ถามคำถามเดิมอีก “โตขึ้นอยากเป็นนักร้องไหม” แล้วแกก็เดินไปข้างหน้า ร้องเพลงด้วยรอยยิ้มอย่างมีความสุข