ก่อนเปิดห้อง

ห้องเก็บของสำหรับผม ก็คล้ายๆเป็นที่เก็บความทรงจำมากมายหลายอย่าง ของที่ยังใช้ได้ แต่ไม่มีโอกาสได้ใช้ ของที่เสียที่ชำรุดแล้ว แต่มีค่ามากกว่าที่จะทิ้งมันไป ของเก่าๆที่ไม่เข้ากับชีวิตปัจจุบัน กับยุคสมัยที่เปลี่ยนไป รูปภาพ ม้วนเทปเพลงที่เคยแต่งเคยบันทึกไว้ง่ายๆ นานจนลืมไปแล้วว่ามีกี่เพลง เพลงอะไรบ้าง จดหมาย สมุดบันทึกในช่วงชีวิตต่างๆ มีเรื่องราวเกี่ยวกับตัวผมมากมายที่ครอบครัวผมเองก็ยังไม่เคยรู้ นานมากแล้วนะ ที่ไม่ได้เปิดประตูเข้าไปดูมันเลย ลองเข้าไปดูกับผมมั้ย?

*ก่อนอื่นต้องขอขอบคุณเจ้าของรูปภาพประกอบเรื่องราวทั้งหลายมา ณ.ที่นี้ นิตยสาร สื่อสิ่งพิมพ์ ผู้ออกแบบปกอัลบั้มต่างๆ ทั้งภาพที่พี่ๆศิลปินส่งมาให้ ภาพเก่าที่บราเธอร์ , มาสเตอร์ หรือเพื่อนเก่าๆได้ถ่ายเอาไว้ ใครเป็นคนถ่ายบ้างก็ไม่รู้มั่วไปหมด รูปภาพที่มีผม ผมไม่ได้ถ่ายเองอยู่แล้ว แม้บางภาพจะเป็นกล้องและฟิล์มของผมเองก็ตาม


วันพฤหัสบดีที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

ตอนที่10 (วัยใส )

ทางแยก

มันเป็นช่วงเวลาที่ต้องเลือก ระหว่างเดินทางไปเล่นดนตรีที่ มาเก๊า กับพี่โหนกและสมาชิกบางคนของเม็ดทราย(เก่า) หรือจะเข้าเรียน มหาวิทยาลัย ผมไตร่ตรองของผมเพียงลำพัง โดยที่แม่ของผมไม่รู้เลย แม่มารู้ในวันท้ายๆ ที่พวกเพื่อนๆของผมจะเดินทางแล้ว แม่ขอให้ผมเรียนให้จบเพื่อแม่ แล้วหลังจากนั้นผมอยากจะทำอะไรก็จะไม่ขัด แม่ว่าอย่างนั้น ผมเข้าเรียนที่ มหาวิทยาลัย หอการค้าไทย* คณะมนุษยศาสตร์(รหัส ปี29) เป็นโลกใหม่ แปลกตา จากมุมมองของเด็กที่มาจากโรงเรียนชายล้วน เจอเพื่อนดีๆมากมายที่ทุกวันนี้เป็นใหญ่เป็นโต หรือเป็นคนดังไปแล้วก็มี เช่น ประสิทธิ์ ฉกาจธรรม(ผู้บริหารของ CP และนักเขียน) , สรรเสริญ ปัญญาธิวงศ์ (DJ และพิธีกร , เอ็นดู ศิลศร(ฝ่ายข่าวช่อง5 ถ้าสะกดผิดต้องขออภัย ธรรมดาเรียก ปุ๊ก) ผมตั้งใจเรียน เพราะวิชาเรียนใช้ความเข้าใจไม่ใช่ท่องจำ คำตอบในชั้นเรียนหรือในข้อสอบแสดงความคิดความเห็นได้มากขึ้น(ยกเว้นบางวิชา ที่ทำเอาผมได้ Fไปตัวหนึ่ง) สมองเดิมๆ*ที่สมัยมัธยมถูกเรียกว่าเด็กดื้อไม่เอาถ่าน ตอนนี้เขาเรียกกันว่า สร้างสรรค์ เกรดเฉลี่ยของผมดีกว่าตอนเรียนมัธยมมาก เริ่มรู้สึกว่าตัวเองมีค่าตอนที่ อาจารย์ พรทิพย์ (อาจารย์ภาษาไทยชั้นปีที่1)พูดชมเชยงานเขียนของผม และยิ่งเริ่มมั่นใจเมื่อ อาจารย์ เจริญ มาลาโรจน์* (มาลา คำจันทร์ นักเขียนหลายรางวัล ทั้งรางวัลเล็กและใหญ่ อาจารย์ภาษาไทยชั้นปีที่2)ให้ความสำคัญกับงานของผม ในขณะที่เรื่องดนตรีผมก็ยังไม่ได้ทิ้งไปไหน เพียงแต่ลดเพดานลงหน่อย ผมเลือกเรียน เอกภาษาไทยเพื่อการสื่อสาร สาขาวิทยุและโทรทัศน์ เนื่องจากใกล้เคียงสิ่งที่เรียกว่า นิเทศศาสตร์ ที่สุดแล้ว (ปีนั้น ที่นั่นยังไม่มีคณะนิเทศฯ) แต่สุดท้ายตอนใกล้จบการศึกษา ผมก็ขอคณะอาจารย์ไปฝึกงานที่ห้องบันทึกเสียง ซึ่งไม่เกี่ยวกับวิชาทั้งหมดที่เรียนมาเลย ผมให้เหตุผลว่า ผมเรียนเพื่อแม่ แต่จบไปผมจะทำงานดนตรีที่ผมรักเหมือนเดิม อาจารย์หลายท่านในภาควิชา ประชุมกันไม่กี่วันก็อนุมัติ ขอบคุณครับ.



                                              ซ้าย  อ.เจริญ มาลาโรจน์ (มาลา คำจันทร์)

*ผมสอบเข้ามหาวิทยาลัยของรัฐบาลไม่ติด เนื่องจากไม่ได้เข้าสอบปฏิบัติเครื่องดนตรี ผมมีเวลาเตรียมตัวน้อย กว่าจะขอแม่เพื่อไปเรียนดนตรี(ที่ต้องใช้เข้าสอบ)ได้ ก็เหลือเวลาอีกไม่กี่วัน แต่เพื่อนของผมชื่อ จิมมี่ ที่ปรึกษาหารือเรื่องดนตรีกับผมมาตลอด สอบติด

*ผมมีความคิดมาตั้งแต่เรียนมัธยมต้นว่า หากโรงเรียนแบ่งนักเรียนและสาขาวิชาเรียน(เพื่อมุ่งไปให้ใช้ได้จริงกับคณะวิชาในมหาวิทยาลัยที่ตั้งใจเลือกสอบเข้า)ตามความถนัดของเด็กแต่ละคนตั้งแต่ ม.1จะไม่มีเด็กคนไหนผลการเรียนแย่เลย เพราะเด็กแต่ละคน ก็เก่งกันไปคนละด้าน


*อาจารย์ มาลา เคยบอกกับผมเมื่อไม่กี่ปีนี้ว่า ผมเป็นหนึ่งในศิษย์ไม่กี่คนที่มีผลงานการเขียนโดดเด่นมาก เท่าที่แกเคยสอนมา และพูดกับผมเสมอว่า ทำไมถึงไม่เขียน