ก่อนเปิดห้อง

ห้องเก็บของสำหรับผม ก็คล้ายๆเป็นที่เก็บความทรงจำมากมายหลายอย่าง ของที่ยังใช้ได้ แต่ไม่มีโอกาสได้ใช้ ของที่เสียที่ชำรุดแล้ว แต่มีค่ามากกว่าที่จะทิ้งมันไป ของเก่าๆที่ไม่เข้ากับชีวิตปัจจุบัน กับยุคสมัยที่เปลี่ยนไป รูปภาพ ม้วนเทปเพลงที่เคยแต่งเคยบันทึกไว้ง่ายๆ นานจนลืมไปแล้วว่ามีกี่เพลง เพลงอะไรบ้าง จดหมาย สมุดบันทึกในช่วงชีวิตต่างๆ มีเรื่องราวเกี่ยวกับตัวผมมากมายที่ครอบครัวผมเองก็ยังไม่เคยรู้ นานมากแล้วนะ ที่ไม่ได้เปิดประตูเข้าไปดูมันเลย ลองเข้าไปดูกับผมมั้ย?

*ก่อนอื่นต้องขอขอบคุณเจ้าของรูปภาพประกอบเรื่องราวทั้งหลายมา ณ.ที่นี้ นิตยสาร สื่อสิ่งพิมพ์ ผู้ออกแบบปกอัลบั้มต่างๆ ทั้งภาพที่พี่ๆศิลปินส่งมาให้ ภาพเก่าที่บราเธอร์ , มาสเตอร์ หรือเพื่อนเก่าๆได้ถ่ายเอาไว้ ใครเป็นคนถ่ายบ้างก็ไม่รู้มั่วไปหมด รูปภาพที่มีผม ผมไม่ได้ถ่ายเองอยู่แล้ว แม้บางภาพจะเป็นกล้องและฟิล์มของผมเองก็ตาม


วันพุธที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

ตอนที่ 16 (วัยใส)

มารใหญ่ มารน้อย

ภายในตัวบ้านของพี่บุ๋มส่วนหนึ่งถูกตกแต่งให้เป็นห้องบันทึกเสียงขนาดใหญ่*และทันสมัยที่สุดห้องหนึ่งในเวลานั้น บอร์ดMixยาวเกินสุดแขน เรียกว่าจนถึงปัจจุบันนี้ ห้องบันทึกเสียงที่ผมเคยไปมาทั้งหมดส่วนใหญ่ยังเล็กกว่าห้องนี้ สุนัขอัลเซเชี่ยน*ตัวใหญ่ใจดีสองตัววิ่งไปวิ่งมาสร้างบรรยากาศสบายๆ ผมติดตามพี่เปี๊ยกไปที่นั่นสัปดาห์ละสามถึงสี่ครั้งโดยประมาณ เพราะอัลบั้มของพี่บิ๊กที่พี่เปี๊ยกรับผิดชอบยังไม่เสร็จสิ้นดี จึงต้องแบ่งเวลา

ผมเสนอทำนองเพลงร๊อคซึ่งบันทึกง่ายๆจากห้องนอนที่บ้านให้พี่บุ๋มฟัง3เพลง(ถ้าจำไม่ผิด) ผลสรุป ผ่านทั้งหมด จนพี่บุ๋มตั้งฉายาให้ผมเล่นๆว่า มารน้อย “ฉัน*เป็นมารใหญ่ เธอเป็นมารน้อย” แล้วแกก็หัวเราะเสียงดังตามสไตล์ ผมดีใจมากที่นักดนตรีรุ่นใหญ่ชอบทำนองเพลงของผมและทำให้ผมนึกออกว่าผมยังมีงานเพลงที่ร่วมทำไว้กับเพื่อนมหาวิทยาลัยของผม ประสิทธิ์ (คนที่ชวนผมเล่นลำตัด และทำเพลงให้คณะนั่นล่ะครับ) ก่อนหน้านั้นประสิทธิ์แต่งกลอนมาให้ผมดู และร้องให้ผมฟังเป็นทำนองคล้ายๆเพลงฉ่อย ชื่อ อกสามศอก พูดถึงเรื่องราวของชายหนุ่มตัวเล็กๆ กล้ามไม่มี แต่พยายามทำดีเพื่อสังคม ผมได้ดูและได้ฟังจากปากของประสิทธิ์ครั้งแรกผมชอบมาก แต่ทำนองฉ่อยมันจะไม่มีความเคลื่อนไหวด้าน Chord ยากต่อการสร้างฮาร์โมนี่ ผมเลยจับมาดัดทำนองให้ดิ้น และมีลีลาสากลมากขึ้น โดยคงบรรยากาศความเป็นไทยๆไว้ ผมเล่าถึงเพลงนี้ให้พี่บุ๋มฟัง(แบบที่เล่าไปข้างต้นล่ะครับ) พี่บุ๋มสนใจมาก รุ่งขึ้นผมนำเดโมเทปจากบ้านกลับไปนั่งเปิดฟังกัน พี่บุ๋มชอบถึงขนาดว่าจับให้เป็นเพลงแรกๆในการเริ่มต้นทำไกด์ดนตรีสำหรับอัลบั้มของพี่บุ๋มกับFoxเลยทีเดียว* ผมได้เห็นวิธีการทำงานกับบทเพลงเพลงนี้ใหม่ทั้งหมด พี่เปี๊ยกเรียบเรียงดนตรี พี่บุ๋มใส่ไลน์กีตาร์คร่าวๆไว้แล้ว พี่ตุ้ม สุทธิเมศ เหล็กกล้า บันทึกเสียงร้องตามไกด์เสียงของผมซึ่งพี่บุ๋มควบคุมแบบให้เกียรติ คำต่อคำ

ทุกๆวันที่ไป ช่วงหัวค่ำผมมีโอกาสร่วมรับประทานอาหารกับพี่บุ๋มและพี่เปี๊ยกหลายครั้ง ได้พูดคุยเรียนรู้ประสบการณ์ทั้งดนตรีและเรื่องทั่วๆไป เรื่องหนึ่งที่ยังอยู่ในใจตลอดมาคือเรื่องของ พี่น้ำพุ พี่ชายของพี่หนู(ภรรยาของพี่บุ๋มในขณะนั้น พี่น้ำพุและพี่หนูคือลูกของ สุวรรณี สุคนธา นักเขียนชื่อดัง) พี่บุ๋มบอกให้ผมสังเกต ว่าเวลาทุ่มเศษๆของทุกๆวันจะมีสุนัขหอนรับช่วงต่อๆกันจากหน้าปากซอยลาดพร้าวมาจนถึงบ้านแก ซึ่งก็จริง ตอนนั้น เวลาทุ่มสิบกว่านาที บนโต๊ะอาหารซึ่งพวกเรายังไม่เรียบร้อยกันดี พี่บุ๋มบอก “ฟังสิ” เสียงสุนัขหอนไล่มาจากด้านปากซอยจริง จนมาสุดที่อัลเซเชียลสองตัวในบ้าน “พี่น้ำพุมา” เหมือนแกรู้ว่าผมอยากรู้ “มาเธอตามฉันมา*” แล้วพี่บุ๋มก็เดินนำผมก้าวขึ้นบันไดไปชั้นบน มาหยุดอยู่ที่โต๊ะหมู่บูชา “อ่ะ กราบพี่น้ำพุสิ”

จากนั้นเราก็ลงมานั่งคุยกันต่อที่ด้านล่าง พี่บุ๋มนำกีตาร์*ออกมาให้ผมดูและลองเล่นหลายตัว รวมถึงกีตาร์ ปมมะค่า ที่แกใช้บันทึกเสียงในอัลบั้ม ศรัทธา ปมมะค่าที่ขุดใส่รถจากชายแดนไทย-พม่า มาตัดประกอบเป็นตัวกีตาร์ที่เมืองไทย.

*ซาวด์เอนจิเนียประจำห้องขณะนั้นชื่อ พี่ปู ต่อมาย้ายไปทำงานที่ห้องบันทึกเสียงบัตเตอร์ฟลาย

*มือเบสช่วงนั้นถ้าจำไม่ผิดคือพี่เปิ๊ด มิติ  ปัจจุบัน The Sun

*แรงบันดาลใจให้ผมเลี้ยงอัลเซเชียลเป็นสุนัขคู่แรกในชีวิต หลังจากนั้น8ปี

*พี่บุ๋มจะแทนตัวเองว่าฉัน และแทนผมว่าเธอ

*จากวันนั้นอีกไม่นาน การทำอัลบั้มนี้ก็สิ้นสุดโดยที่ยังไม่เสร็จ


*กีตาร์ Paul Reed Smith 3ตัวแรกในเมืองไทย ถูกส่งมาพร้อมกันโดยการสั่งซื้อของพี่บุ๋ม ซึ่งพี่บุ๋มใจดีให้โอกาสผมได้สัมผัสเป็นคนแรกๆ